แหล่งเรียนรู้ เรื่องราว "นครีสโตย"

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาจังหวัด "สตูล"

จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย (ทางชายฝั่งทะเลอันดามัน) คำว่า สตูล มาจากคำภาษามลายูว่า สโตย แปลว่ากระท้อน ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่นี้ โดยชื่อเมือง นครสโตยมำบังสการา (มาเลย์: Negeri Setoi Mumbang Segara) นั้นหมายความว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา[3] ดังนั้น "ตราพระสมุทรเทวา" จึงกลายเป็นตราหรือสัญลักษณ์ของจังหวัดมาตราบเท่าทุกวันนี้
             ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งในเขตเมืองไทรบุรี ประวัติความเป็นมาของเมืองสตูลจึงเกี่ยวข้องกับไทรบุรี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแยกกันเป็นสองพวกคือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูล และฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราช หรือยิ่งกว่านั้น"
เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลนั้นยังปรากฏในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฏบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี โดยเมืองสตูลได้แยกออกจากไทรบุรีอย่างเด็ดขาดตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ เรื่องการปักปันดินแดนนะหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) จากหนังสือสัญญานี้ยังส่งผลให้เมืองไทรบุรีและเมืองปะลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนเมืองสตูลยังคงเป็นของไทยมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปักปันดินแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2453)
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยทางชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 6 องศา 4 ลิปดา ถึง 7 องศา 2 ลิปดาเหนือ กับเส้นแวงที่ 99 องศา 5 ลิปดา ถึง 100 องศา 3 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 973 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,478.997 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,549,361 ไร่ เป็นลำดับที่ 63 ของประเทศ และลำดับที่ 12 ของภาคใต้ รองลงมาคือ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดตรังทางทิศเหนือ จังหวัดสงขลาทางทิศตะวันออก และรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซียตลอดแนวชายแดน (ทางทิศใต้) ยาวประมาณ 56 กิโลเมตร ติดต่อฝั่งอันดามันยาวประมาณ 144.8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เกาะประมาณ 88 เกาะ

ภูมิประเทศ

พื้นที่จังหวัดสตูลทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน โดยมีทิวเขาที่สำคัญแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย คือ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาสันกาลาคีรี พื้นที่ของจังหวัดค่อย ๆ ลาดเอียงลงสู่ทะเลด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ โดยยังมีภูเขาน้อยใหญ่อยู่กระจัดกระจายในตอนล่าง ภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ เขาจีน เขาบารัง เขาใหญ่ เขาทะนาน และเขาพญาวัง และมีที่ราบแคบ ๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล ถัดจากที่ราบลงไปเป็นพื้นที่ป่าชายเลนน้ำเค็มขึ้นถึง อุดมไปด้วยป่าแสมและป่าโกงกาง สตูลเป็นจังหวัดที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คงมีแต่ลำน้ำสั้น ๆ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด

ปัจจุบันจังหวัดสตูล แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ  คือ
๑. อำเภอเมืองสตูล
๒. อำเภอละงู
๓. อำเภอควนกาหลง
๔. อำเภอทุ่งหว้า
๕. อำเภอควนโดน
๖. อำเภอท่าแพ
๗. อำเภอมะนัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น